เรื่องของของเหลวเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในการจัดกระเป๋าสำหรับถือขึ้นเครื่องของใครหลายๆ คน และมีคนยังสับสน สงสัย และมีคำถามอยู่ว่าอันไหนนับเป็นของเหลวบ้าง ขิงเลยเอาเรื่องของของเหลวแยกออกมาเขียนให้ทุกคนอ่านอย่างละเอียดเลยว่า เกณฑ์ในการพิจารณาตรวจค้นของเหลวของเจ้าหน้าที่สนามบินเป็นอย่างไรบ้าง
1. ของเหลว เจล สเปย์ หมายถึงอะไรบ้าง
ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่าของเหลว เจล สเปย์ที่พูดถึงกันอยู่มีอะไรบ้าง ผลิตภัณฑ์ไหนเป็นของเหลว แบบไหนเป็นเจล แบบไหนอยู่ในหมวดหมู่ไหน ของเหลว เจล สเปย์คือผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากกว่าส่วนประกอบอื่นสามารถไหลกลิ้งไปมาในขวดได้นั่นถือเป็นของเหลวค่ะ เจ้าหน้าที่สนามบินจะมีเกณฑ์ในการแยกประเภทของของเหลวออกเป็น
- อาหารที่มีของเหลวในปริมาณมาก เช่น ซุป น้ำ เครื่องดื่ม น้ำเชื่อม แยมสตูว์ ซอส น้ำพริก
- เครื่องสำอาง เช่น ครีม โลชั่น น้ำมัน น้ำหอม
- เจล เช่น ยาสีฟัน ยาสระผม เจลอาบน้ำ
- วัตถุที่ต้องฉีดพ่น เช่น สเปรย์ โฟม
- สิ่งที่มีส่วนผสมของของแข็งและของเหลว เช่น มาสคาร่า ลิปสติกชนิดน้ำ ลิปกลอส
ทั้งหมดนี้เรียกรวมกันว่า (LAGs) หรือ ของเหลว เจล สเปรย์ หรือวัตถุและสารอื่น ๆ
2. เงื่อนไขในการนำของเหลวขึ้นเครื่อง
ในการที่เราจะนำของเหลวติดตัวขึ้นเครื่องทางเจ้าหน้าที่ ทอท. มีข้อกำหนดให้เราทำตามดังนี้ค่ะ
- ขนาดบรรจุภัณฑ์ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร หรือในหน่วยวัดปริมาตรอื่นที่เท่ากัน และต้องมีข้อความระบุปริมาตรของบรรจุภัณฑ์ สามารถนำไปได้มากกว่า 1 ชิ้น แต่ต้องมีปริมาตรรวมกันสูงสุดไม่เกินคนละ 1,000 มิลลิลิตร
- ของเหลว เจล สเปรย์ ที่ซื้อจากร้านค้าปลอดภาษีหรือ duty free ที่สนามบิน สามารถนำขึ้นเครื่องได้ แต่ต้องบรรจุไว้ในถุงพลาสติกที่ปิดสนิท และไม่มีร่องรอยการแกะ การฉีกขาด หรือการเปิดปากถุง และต้องแสดงหลักฐานว่าซื้อในวันที่เดินทาง
- ของเหลว เจล สเปรย์ ที่ยกเว้น ไม่ต้องมีปริมาตรตามกำหนด แต่มีปริมาณเหมาะสมกับระยะเวลาเดินทาง
- ของเหลว เจล สเปรย์ ประเภทยาต้องมีใบรับรองแพทย์ ฉลาก หรือเอกสารกำกับยาที่ระบุชื่อผู้โดยสาร ยกเว้นว่ายาสามัญประจำบ้านตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข
- อาหารที่ต้องพกพาตามข้อกำหนดทางการแพทย์ หรือเพื่อวัตถุประสงค์ทางโภชนา
- อาหารหรือนมสำหรับเด็กทารกที่มีความจำเป็นต้องใช้บริโภคระหว่างเที่ยวบิน
3. ทำไมต้อง 100 ML
หลายคนอาจมีข้อสงสัยว่าแล้วทำไมจะต้องห้ามเกิน 100 ml ด้วย นั่นก็เพราะของเหลวที่มีปริมาณเกินกว่า 100 มิลลิลิตร สามารถนำไปใช้เป็นสารประกอบของระเบิดได้ อย่างเช่นในกรณี ผู้โดยสารคนหนึ่งแอบนำผงสารเคมีและของเหลวปริมาณมากขึ้นเครื่องบิน เพื่อพยายามระเบิดเครื่องบินสายการบินหนึ่งของยุโรปในปี2552 และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก จึงมีออกกฎห้ามนำของเหลวเกินกว่า 100 มิลลิลิตรขึ้นเครื่องมาใช้ เพราะปริมาณที่กำหนดนี้เป็นปริมาณที่พิสูจน์แล้วว่าน้อยเกินกว่าจะใช้เป็นส่วนประกอบของระเบิดได้ค่ะ
4. แล้วทำไมของเหลวในร้าน Duty free ถึงสามารถเกินได้
ก็เพราะว่าสินค้าที่เป็นของเหลว ที่วางขายในร้าน Duty free ทุกชนิด จะผ่านการตรวจสอบจากทางท่าอากาศยานอยู่แล้ว และเมื่อนำสินค้าขึ้นเครื่องจะมีถุงใส่ให้อย่างมิดชิด มีตราประทับเพื่อให้รู้ที่มาที่ไปของของเหลวที่จะนำขึ้นเครื่องนั่นเอง
5. ถุงบรรจุของเหลวขึ้นเครื่อง
หากเราจะนำของใช้ที่อยู่ในกลุ่ม (LAGs) ขึ้นเครื่องได้อย่างสะดวกต่อการตรวจสอบหรือการสแกนกระเป๋า เราควรรวมขวดบรรจุภัณฑ์เล็กๆ เข้าไว้ในถุงพลาสติกใสถุงเดียวกันในถุงที่มีซิปล็อค นอกจากจากจะง่ายต่อการสแกนตรวจสอบแล้วยังเป็นการป้องกันการหกเลอะเทอะของผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของของเหลวที่ขิงรวบรวมมาให้ทุกคนค่ะ การเตรียมของไปเที่ยวในทริปหน้าของทุกคนจะได้เตรียมของได้ง่ายขึ้น